Monday, September 19, 2011

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต

 

paragraph__22_776

ตอบปัญหาธรรมะ (หมวดสมาธิและปัญญา)

1. คำถาม
ขณะ นี้ผมเพิ่งหัดทำสมาธิ ก่อนทำสมาธิจะสวดมนต์ครึ่งชั่วโมงมีบทสวดชินบัญชร, ชัยมงคลคาถา, คาถาเมตตาหลวงของหลวงพ่อเมตตาหลวง หลังจากนั้นก็แผ่เมตตา อุทิศส่วนกุศลแล้วนั่งสมาธินาน 5 -25 นาที แล้วแต่วัน โดยใช้บทบริกรรมพุทโธพร้อม ลมหายใจเข้าออก พุทธเข้า-โธออก ปัญหาของผมคือว่าจิตของผมยังฟุ้งซ่านคิดโน่นนี่ ตลอดไม่ค่อยจะอยู่กับลมหายใจ และคำบริกรรมน้อยมากที่จะอยู่หลายอยากจะขอคำแนะนำว่าควรจะทำอย่างไร การฝึกสมาธิก็คือสติใช่ไหมครับ แต่นี่มันคล้ายๆไม่มีสติกับงานที่ทำอยู่
คำตอบ
ก่อน ทำสมาธิได้สวดมนต์ชินบัญชร, ชัยมงคล และบริกรรมเมตตาหลวงแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศล แล้วนั่งสมาธิตั้งแต่ 5 -25 นาที ใช้บทบริกรรม พุทโธพร้อมลมหายใจเข้าออก พุทธเข้า-โธออก แต่จิตยังฟุ้งซ่าน คิดโน้นคิดนี้ก็จริงอยู่ เมื่อเป็นดังนี้ ก็อย่าได้ เอามากนัก จะเอาแต่เมตตาก็ต้องให้เห็นคุณชั้นนี้ก่อน หรือจะเอาแต่พุทเข้า-โธออก ก็ต้องให้เห็นคุณชั้นนี้ไปเสียก่อน อย่าจับๆ จดๆ คว้านั้น คว้านี่มากมายนัก มันจะกลายเป็นขี้โลภกรรมฐาน งานชิ้นนั้นก็จะทำ งานชิ้นนี้ก็จะทำ ตกลงไม่ได้เห็นผลซักงานเลย ถ้าเราภาวนาอันใดจิตรวมลงไป รสชาติของจิตรวมก็เป็นรสชาติอันเดียวกันกับเราภาวนาอันอื่นๆ
2. คำถาม
พระอาณาปานสติเฉพาะตัวหลวงปู่มีเคล็ด หรืออุบายอย่างไรบ้างเพื่อความงอกงามของศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ ญาณทัสนะเป็นพิเศษ
คำตอบ
พระ อาณาปานสติมีเคล็ดมาก พระธรรมแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ย่นลงมารวมในอานาปานสติได้ไม่ลำบาก เพราะเป็นกองทัพที่มีกำลังมาก ยกอุทาหรณ์ เช่น เราจะพิจารณา “พุทโธ” ก็คุณของพุทโธก็ดี ธัมโม สังโฆก็ดีกลมกลืนกันกับพุทโธอยู่แล้วคล้ายเชือก 3 เกลียว และก็มีอยู่ (พระคุณ) ทุกลมหายใจเข้าออกอีกด้วย ข้ออื่นยังมีอยู่อีกเช่น สกลกาย สกลใจก็ดีที่เรียกว่ากองนามรูปก็มีอยู่ทุกลมหายใจอีกด้วยข้ออื่นมีอยู่อีก เช่น ไตรลักษณ์ก็มีอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกอีกด้วย แม้พระนิพพานอันทรงอยู่มีอยู่จะเหนือผู้รู้ขึ้นไปก็ตาม ก็ทรงมีอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกอีกด้วย
เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างทั้ง สังขาร และวิสังขารมีอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกแล้ว เราก็ไม่ได้ส่งส่ายหาธรรมทั้งปวงเพราะแม่เหล็กย่อมดึงเข็มทิศชี้ไปหาสิ่ง เหล่านี้ขึ้นอยู่กับสติปัญญาของแต่ละคน ทั้งนั้นเพราะพระบรมศาสนาไม่ได้สอนให้พวกเราโง่ ธรรมบทเดียวก็ส่งต่อพระนิพพานได้ทั้งนั้น แม้ศีล สมาธิ ปัญญาหรือวิมุติที่เรียกว่าไตรสิกขาก็มีความหมายอันเดียวกันกับแปดหมื่นสี่ พันพระธรรมขันธ์นั่นเอง ญาณทัสนะเป็นพิเศษนั้นคือ เห็นตามเป็นจริงในขณะนั้น รู้ตามเป็นจริงในขณะนั้นไม่สำคัญตัวว่าเป็นเรา เขาในขณะนั้น อุปาทานก็แตกกระเจิงไปเองไม่ได้ต้องทำท่าทำทางให้แตก
3. คำถาม
ผมเคยอ่านหนังสือพบว่า เวลาขณะที่จิตฟุ้งซ่านมากๆ ไม่ควรจะทำสมาธิ ภาวนา เพราะเหตุใด จริงไหม
คำตอบ
ที่ ว่าจิตฟุ้งซ่านนั้นไม่ควรทำสมาธิตอบว่า…จิตฟุ้งซ่านนั่นเองจะได้ถูกข่มเหง เข้าในสมาธิ ด้วยบริกรรมให้พอ จดจ่ออยู่กับกรรมฐานที่ตั้งไว้ถ้าบริกรรมไม่พอหรือเพ่งให้เป็นอารมณ์เดียว ไม่พออยู่ในเป้าอันเดียว มันก็ไม่ยอมลงเหมือนกัน ถ้าจิตฟุ้งซ่านเราไม่เข้าสมาธิแล้ว มันยิ่งไปกันใหญ่เทียบกันกับเราเลี้ยงโค มีหญ้ากินอยู่ มันไม่สันโดษกินก็ต้องผูกมัด ผูกล่ามไว้ โบราณท่านกล่าวว่าเรือข้ามทะเล เมื่อคลื่นจัดก็ต้องทอดสมอ มิฉะนั้นเรือจะคว่ำและเดินผิดท่าฉันใดก็ดีเมื่อมันฟุ้งซ่านเราไม่ดัดสันดาน มันให้ตั้งอยู่ในกรรมฐานอันใดอันหนึ่ง มันก็เคยตัวเพราะมันไม่ถูกทรมานด้วยพระสติพระปัญญา คำว่าฟุ้งซ่านก็คือรำคาญใจนั่นเอง มันอิงกับโมหะโดยไม่รู้ตัว

images0111

 

4. คำถาม
อีกประเภทหนึ่ง ถามว่าท่านทำนิโรธสมาบัติเพื่อประโยชน์อันใด
คำตอบ
ถ้า พิจารณาแล้วก็ทำเพื่อประโยชน์ 2 ทาง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่นบ้างกรณีเพื่อจะสงเคราะห์ คนนั้นคนนี้บ้างแล้วก็เข้านิโรธสมาบัติ เมื่อออกจากนิโรธสมาบัติผู้ใดมีบุญวาสนาก็จำเป็นจะได้ไปใส่บาตรให้ท่านผู้ นั้นก็จะได้อนิสงส์ปัจจุบันทันตา ส่วนท่านจะออกจากนิโรธสมาบัติเราจะทราบได้ด้วยวิธีใดนั้น มันก็เป็นของยากตอนนี้ เพราะท่านจะเข้านิโรธสมาบัติท่านก็ไม่ได้มาบอกเรา หรือเราเห็นท่านนั่งอยู่ที่เก่าถึง 7 วัน แต่เราก็ไม่ได้นั่งเฝ้าท่านอยู่ด้วยว่าจิตของท่านตั้งอยู่ในที่ใด ท่านพลิกไปพลิกมาหรือไม่ แต่บางท่านเข้านิโรธสมาบัติสมัยทุกวันนี้ บางทีก็ได้ทราบข่าวเปรยๆ ว่า ท่านฉันนมอยู่บางทีก็ได้ทราบว่าท่าน เข้าได้จริงๆ และก็มีผู้อยู่เบื้องหลังคอยเทอดท่าน เพราะแอบกินอามิสกับท่านบ้างก็อาจเป็นได้ สิ่งเหล่านี้เป็นของตัดสินยาก
5. คำถาม
ลูก กราบองค์หลวงปู่ เมื่อทำสมาธิแล้วจะทำจิตให้นิ่งอันเดียวนี้ช่างยากเหลือเกิน เป็นเพราะลูกมีบาปมากใช่ไหมค่ะ กราบองค์หลวงปู่กรุณาแนะนำด้วยเจ้าค่ะ
คำตอบ
เรื่อง ภาวนา เราจะให้มันนิ่งอยู่หน้าเดียวดิ่งในเป้าที่เราเพ่งอยู่มันก็ย่อมเป็นไปไม่ ได้ เพราะสมาธิทั้งหลายอยู่ใต้อำนาจอนิจจังอันละเอียด เมื่อหมดกำลังก็ถอนออกมา มันจะถอนออกมาก็ช่างมัน เราต้องสังเกตว่า ออกมาแล้วอย่างนี้มีกามวิตก ความตริในทางกามหรือไม่ มีพยาบาทวิตก ความตริในทางพยาบาทหรือไม่ มีวิหิงสาวิตก ความตริในทางเบียดเบียนหรือไม่ ถ้าไม่มีธรรม 3 ประการนี้รบกวนจิตใจเรา ก็ปล่อยให้จิตใจนั้นอยู่ตามสบายนั่นเถิด มีการมีงานก็ทำไปไม่มีโทษ เพราะเรามีสติอยู่กับตัวไม่ใช่จะตันขี้ ตันเยี่ยวมันไม่ให้มันนึกไปทางไหน มันนึกไปทางดีแล้วก็ปล่อยมัน ไม่มีโทษ
แม้การงานที่ถูกคือเว้นจาก ฆ่าสัตว์, ลักทรัพย์, ประพฤติผิดในกาม เรียกว่าการงานชอบ เราก็ต้องปล่อยมันให้มันทำตามสะดวกของมัน ส่วนสัมมาวาจาเล่ามันไม่พูดเท็จ, ไม่พูดส่อเสียด, ไม่พูดคำหยาบคาย, ไม่พูดเพ้อเจ้อ เราก็ต้องปล่อยให้มันพูดซิ ส่วนด้านจิตใจอีก ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่นมาเป็นของตน, ไม่พยาบาทปองร้ายผู้อื่น, เห็นชอบตามทำนองคลองธรรม คือ เห็นว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วเป็นต้น สิ่งทั้งหลายที่ปรารภมานี้ เราก็ต้องปล่อยมันให้อยู่ตามสบายไม่ต้องไปเคี่ยวเข็ญเย็นค่ำมันดอก เท่านี้ก็คงจะพอเข้าใจแล้วนะ
6. คำถาม
นั่ง สมาธิ นั่งวิปัสสนา และนั่งกรรมฐาน เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไรหรือไม่ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราปฏิบัติได้หรือสำเร็จแล้ว และผลของการปฏิบัติทั้ง 3 อย่างดังกล่าวเป็นอย่างไร
คำตอบ
นั่งสมาธิ นั่งวิปัสสนา และนั่งกรรมฐาน ก็มีความอันเดียวกัน
คำว่า สมาธิ แปลว่า ตั้งมั่นในการเพ่งอยู่ที่กรรมฐานที่เราสมมุติตั้งไว้
คำว่า นั่งวิปัสสนา ก็หมายความว่า เรามีปัญญารอบคอบในกรรมฐานที่ตั้งไว้นั่นเอง
และนั่งกรรมฐาน เล่า คำว่า “ฐาน” ก็แปลว่า ฐานความตั้งมั่นในสมาธิ ฐานความตั้งมั่นในปัญญานั่นเอง แต่ใส่ชื่อลือนามหลายอย่างเฉยๆ
คำ ว่า “กรรมฐาน” เอาตัว ร. 2 ตัว, เอาตัว ม. ไม้หันอากาศก็ถูก (ภาษาบาลีหรือมคธ) แต่เอาภาษาไทย ใช้ตัว ร. 2 ตัว ก็มีคำถามต่อไปว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราปฏิบัติได้หรือทำให้สำเร็จแล้ว เรารู้ได้อย่างไรนี้คือ สิ่งที่มีโลภ โกรธ หลงจัดมาแต่เดิม ถึงแม้มันมีอยู่มันก็เบากว่าแต่ก่อน สมมุติว่าแต่ก่อนเราฆ่าสัตว์ได้อย่างไม่อาลัย แล้วเราทำไม่เหมือนก่อนเสียแล้ว เพราะนึกละอายตนเอง
ข้อ ต่อไปอีก เราไม่เสียดายอยากล่วงละเมิดเสียเลย เพราะเห็นดิ่งลงไปแล้วว่ามันเป็นเวรสนองเวรจริงๆ ส่วนจะมาช้าหรือเร็วตามส่วนนั้น มันก็ขึ้นอยู่กับผลของกรรมนั่นเองเราจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ไม่มีปัญหา ผลของกรรมต้องตามมาไม่ต้องสงสัย เราเชื่อดิ่งลงอย่างนี้แล้วเราจึงไม่เสียดายอยากละเมิดนี้เรียกว่าเราสำเร็จ ในตอนนี้แล้ว แม้สิ่งอื่นๆ ก็โดยนัยเดียวกัน
ที่ปรารถ มานี้ก็พอที่จะเข้าใจได้บ้างแล้ว จะอย่างไรก็ตามธรรมะของพระพุทธศาสนาเราก็ต้องปฏิบัติเป็นคู่กับอารมณ์ของเรา ดีกว่าปล่อยอารมณ์ไปทางอื่น ยกอุทาหรณ์อีก จะสะอาดหรือไม่สะอาดขาดตัวก็ตามแต่ต้องได้อาบน้ำอยู่นั่นเอง ถ้าไม่อาบน้ำก็จะยิ่งไปใหญ่เข้าสังคมใดๆ ไม่ได้ฉันใดก็ดีถ้าไม่ประพฤติศีลธรรมแล้วก็ไม่มีอะไรจะมาล้างหัวใจให้สะอาด ได้
เดี๋ยวก็จะฆ่าบิดามารดาด้วยตลอดทั้งท่านผู้มีพระคุณ เช่นพระอรหันต์เป็นต้น และก็ให้เข้าใจว่าความสำเร็จ อยู่กับความพยายามไม่ว่าทางดีทางชั่ว แต่ให้ผลต่างกันเท่านั้น ความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส “เพียรละความชั่วประพฤติความดี” เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

images013

7. คำถาม
ปัญญาญาณในวิปัสสนาที่จะตัดกิเลสเพื่อเข้าสู่มรรคผลเกิดจากการพิจารณา หรือเกิดจากการรู้เห็นเองของจิตเองล้วนๆ
คำตอบ
คำ ถามว่า ปัญญาในวิปัสสนาที่จะตัดกิเลสเพื่อเข้าสู่มรรคผล เกิดจากการพิจารณา หรือเกิดจากการรู้เห็นเองของจิตเองล้วน ตอบว่า...เกิดจากการรู้เห็นของจิตพร้อมทั้งสติปัญญาเป็นกองทัพธรรมล้วนๆ ในปัจจุบันนั้นๆ
8. คำถาม
ผมเป็นคนจิตฟุ้งซ่าน การใช้ปัญญาอบรมสมาธิจะได้หรือไม่ ถ้าได้ควรทำประการใด หลวงปู่โปรดแนะนำด้วยครับ
คำตอบ
ถ้า เป็นคนจิตฟุ้งซ่าน การใช้ปัญญาอบรมสมาธิจะได้หรือไม่ ตอบว่า...ได้ทำอย่างนี้...กำหนดลมเข้าออกให้เห็นชัดแล้วพิจารณาบริกรรมว่า “ทุกข์ๆ” พร้อมกับลมหายใจเข้าออกด้วย และก็ให้เข้าใจว่า อนิจจังกับอนัตตานั้นมันรวมกันอยู่กับที่บริกรรมนั้น และรวมกันอยู่ที่ลมเข้าออกด้วย อย่าไปส่งส่ายหาทางอื่นทำติดต่อยู่อย่างนี้จนให้มันรู้ถึงพริกถึงขิงตามเป็น จริงอยู่ในขณะปัจจุบัน ความเพียรก็ดีความศรัทธาก็ดีสติปัญญาก็ดีสมาธิ ความตั้งมั่นก็ดี 5 ข้อนี้เองเป็นเชือก 5 เกลียวอยู่ในตัวกลมกลืนกันอยู่ในปัจจุบัน แม้นอนอยู่ก็ตามจนให้หลับคากันที่ ทำทุกวันนั้นมันเป็นการถูกต้องดีแล้ว เพราะไม่ได้ปล่อยให้เสียวันไปเปล่า
9. คำถาม
อาการวาระที่จิตสงบนั้นเป็นอย่างไร
คำตอบ
การ สงบนั้นมีอยู่หลายอย่าง อย่างหนึ่งมันสงบพั๊บเข้าไปร่างกาย และจิตก็เบาหวิวไม่เห็นนิมิตอะไร คล้ายกับตัวลอยอยู่ในอากาศ แต่ไม่ปรากฏว่าเคลื่อนที่ มีแต่ผู้รู้อยู่เฉยๆ นี่แบบหนึ่ง แต่ถ้าหมดกำลังก็ถอนออกมา เวลาเข้าพั๊บก็ถอนออกพั๊บเหมือนกัน วิธีรวมอีกแบบหนึ่ง เมื่อจิตเข้าไปก็สว่างโร่เหมือนแสงอาทิตย์ก็มีแสง พระจันทร์ก็มี แสงดาวก็มี แสงเหมือนตะเกียงเจ้าพายุก็มี เหมือนกลางวันก็มี
บาง ทีก็เห็นดอกบัวหลวง และกงจักร ตลอดถึงเทวบุตรเทวดา และบุคคลสารพัดจะนับคณนา สิ่งทั้งเหล่านี้หากเกิดให้เราเห็นอยู่ซึ่งหน้า (คำว่าหน้าคือ หน้าสติหน้าปัญญา) แล้วดับอยู่ที่นั้น ถ้าเราเพ่งต่อที่มันดับอยู่ มันก็เกิดอีกตะพึด แต่ไม่เป็นเรื่องเก่าเป็นเรื่องใหม่ แต่จะว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องเก่า (คำว่าเก่าคือ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป) ถ้าจิตของเราเพลินไปก็ลืมกัมมัฏฐานเดิม คล้ายๆ กับโบราณท่านกล่าวว่า “หมาตาเหลืองเมื่อเห็นไฟที่ไหนเรือง ก็แล่นเข้าไปหา”
และ ขอให้เข้าใจว่านิมิตที่เราตั้งไว้เดิมก็ดี (และให้เข้าใจคำว่า นิมิต แปลเป็นไทยว่า เครื่องหมาย ที่ผูกให้ใจติดอยู่) นิมิตเดิมก็ดี นิมิตใหม่ก็ดี ที่มาเกยพาดก็ดับเป็น จะมีกี่ล้านๆ ก็ตามหรือจนนับไม่ไหวก็เกิดขึ้นและดับไปเท่านั้น เราก็ได้ตัวพยานแล้ว เพราะมันเป็นอันเดียวกันกับนิมิตเดิมที่เราจับนิมิตเดิมไว้ก็เพื่อจะเป็นตัว ประกัน ให้เป็นตัวพยาน
หรือจะเรียกว่านิมิตเดิมเป็นกระจกเงานิมิต ผ่านเป็นนิมิตแขก แต่ก็เกิดดับเป็นเสมอกันนั่นเอง ถ้าจะเอาด้านปัญญามาตัดสิน ก็ตอบตนว่านิมิตเดิมก็ดีไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มีอภินิหารให้เห็นก็เพียงเกิดดับเท่านั้น เราไม่มีหน้าที่จะถือว่าได้ว่าเสีย ต้องลงเอยแบบนี้ รู้ตามเป็นจริงแบบนี้จึงเป็นตัวปัญญา มิฉะนั้นแล้ว คล้ายๆ กับหยอกเงาตนเอง เมื่อตนเหนื่อยเงาก็เหนื่อย

 


......................................................


คัดลอกเนื้อหามาจาก
http://www.geocities.com/pralaah/

No comments:

Post a Comment